คำเตือน: บล็อกนี้ไม่เหมาะสำหรับคนรักทักษิณ

อมน้ำ-บริหารผิด? สื่อเผยหลักฐานน้ำเขื่อนมัดคอ รบ.เพื่อไทย

โพสต์ทูเดย์ชี้แกนนำรัฐบาล-ส.ส.เพื่อไทยพยายามหาแพะน้ำท่วมใหญ่ ไล่ตั้งแต่ภัยธรรมชาติ กฟผ. กรมชลประทาน พุ่งเป้า “ธีระ-บรรหาร” ปกปิดข้อมูล ส่วน “สุขุมพันธุ์” เจอข้อกล่าวหาขวางไม่ให้น้ำไหลลงทะเล “จตุพร” ปราศรัยโทษ ปชป.-ทหารกักน้ำจนต้องตอบโต้ เชื่อสุดท้ายเป็นบูเมอแรงกลับมาทิ่มรัฐบาล เผยตารางลำดับเวลาชี้ชัด “รบ.ปู” บริหารพลาด-พายุซ้ำ ทำให้น้ำเต็มเขื่อน

จากกรณีที่มีสื่อของกลุ่มเสื้อแดงบางส่วนได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำในเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ โดยโทษว่าเป็นต้นเหตุของเหตุอุทกภัยใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพ วานนี้ (2 พ.ย.)โพสต์ทูเดย์ตีพิมพ์รายงานพิเศษในหัวข้อ “พท.โยนบาปหาแพะบูเมอแรงฆ่าตัวเอง” โดยเห็นว่ายิ่งนานวันยิ่งเห็นการบริหารงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)ที่มีทีมงานมากให้ข้อมูลผิด ประชาชนสับสน ศปภ.หมดความเชื่อถือ ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ไร้อำนาจแก้ปัญหาและพูดไม่ตรงกับที่ประเมินไว้

ทั้งนี้ สิ่งที่นางสาวยิ่งลักษณ์จะเผชิญหลังน้ำลดคือ การทวงถามความรับผิดชอบจากการแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ จนเกิดความเสียหายมหาศาล ซึ่งคนเป็นผู้นำรัฐบาลไม่สามารถอยู่เฉยได้หรือกล่าวโทษให้เป็นเรื่องภัยธรรมชาติอย่างเดียว หากย้อนไปดูก่อนสถานการณ์เริ่มวิกฤต พลพรรคเพื่อไทยพยายามหาแพะ เพื่อชี้นำให้ประชาชนเห็นว่า ความเสียหายครั้งนี้ไม่ใช่เพราะรัฐบาล หากแต่เป็นเรื่องภัยธรรมชาติ ถือเป็น แพะตัวที่ 1 

       ต่อมารัฐบาลยังมีข้อแก้ตัวว่าปัญหาน้ำท่วมมาจาก กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะดูแลเขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่ไม่ยอมปล่อยน้ำออกมาก่อนจะมีพายุเข้าหลายลูก รอจนน้ำเข้ามาในเขื่อนให้มากแล้วค่อยระบายน้ำออก กลายเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่ถล่มกรุง กฟผ.จึงเป็น แพะตัวที่ 2

แพะตัวที่ 3 คือ กรมชลประทาน สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมกับ แพะตัวที่ 4 คือนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ที่ดูแลกรมชลประทาน ซึ่งพรรคเพื่อไทย แกนนำ 111 ไทยรักไทย ที่มาช่วยรัฐบาล กล่าวหาว่ากั๊กข้อมูล บอกข้อเท็จจริงแต่น้ำท่า ซึ่งเป็นน้ำที่มากับแม่น้ำ แต่ไม่บอกข้อมูล น้ำทุ่ง ซึ่งเป็นน้ำที่หลากตามท้องทุ่ง ทำให้รัฐบา ประเมินสถานการณ์ผิด เป็นผลให้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งจมมิด และไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯ ขณะนี้ ข้อกล่าวหาอีกกรณี คือ การที่กรมชลประทาน ซึ่งคุมประตูระบายน้ำ (ปตร.) ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เช่น ปตร.หนองจอก ปตร.คลองประเวศบุรีรมย์ ไม่ยอมเปิดประตู ทำให้น้ำระบายลงสู่ทะเลไม่เต็มที่

แพะตัวที่ 5 คือนายบรรหาร ศิลปอาชา เจ้าของพรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งควบคุมนายธีระ และกรมชลประทานอีกทอด ถูกกล่าวโทษจากพรรคเพื่อไทยว่าเป็นขาใหญ่ สั่งปิดการระบายน้ำ ปตร.พลเทพ ที่ จ.ชัยนาท กันไม่ให้น้ำเข้า จ.สุพรรณบุรี ฐานเสียงของนายบรรหาร ทำให้การแก้ปัญหาของรัฐบาลผิดแผน น้ำระบายลงฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ไม่ได้

แพะตัวที่ 6 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถูกกกล่าวหาจาก ศปภ. นางสาวยิ่งลักษณ์ และ สส.พรรคเพื่อไทย ว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ด้วยการยอมให้น้ำเหนือไหลลงสู่คลองแสนแสบในกรุงเทพฯ จนนางสาวยิ่งลักษณ์ ต้องประกาศใช้มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยึดอำนาจจากกรุงเทพมหานคร ใครฝ่าฝืนคำสั่งมีบทลงโทษตามกฎหมาย แม้กระชับอำนาจได้ แต่สถานการณ์กลับหนักกว่าเดิม น้ำมีโอกาสเข้าท่วมกรุงเทพฯ ทุกเขต จากที่ สส.พรรคเพื่อไทย ไม่ห้ามม็อบคลองสามวา จนทำลาย ปตร.คลองสามวา ซึ่งเป็นด่านหน้ากรุงเทพฯ ไปบางส่วน

นอกจากนี้ กลุ่ม สส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นำโดยนายประเสริฐ ชัยกิจเด่นนภาลัย ออกมากล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่า ขวางกระแสน้ำไม่ให้ไหลผ่านกรุงเทพฯ ลง จ.สมุทรปราการ เพื่อระบายสู่อ่าวไทยเร็วๆ ทั้งที่ จ.สมุทรปราการ พร้อมรับน้ำ แต่น้ำจากเมืองกรุงไม่ยอมมาเสียที ขณะที่การปราศรัยของ จตุพร พรหมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ในเวที “ไพร่แดง ลมหายใจที่ไม่แพ้” ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย กล่าวว่า เหตุที่น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มาจากยุคพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกักน้ำเอาไว้เต็มเขื่อนหลายแห่ง ส่วนทหารที่ขอเข้ามาช่วยแก้น้ำท่วม ถ้าล้มเหลวทหารต้องรับไปด้วย 50% นอกจากนี้ รัฐบาลนี้มีแต่คนจ้องล้มให้ได้ภายในเดือน ธ.ค. แต่โชคดีมีน้ำท่วมใหญ่ก่อน ทำให้ล้มไม่ได้ ซึ่งความหมายของนายจตุพร แพะตัวที่ 7 คือ พรรคประชาธิปัตย์ แพะตัวที่ 8 คือ กองทัพ

ในรายงานพิเศษชิ้นนี้กล่าวว่า การที่น้ำท่วมคือโชคดีของรัฐบาลที่ป้องกันไม่ให้ใครมาล้มได้ แต่เป็นโชคร้ายของประชาชนที่เดือดร้อนกันถ้วนหน้า ซึ่งเหตุผลของนายจตุพรครั้งนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตอบโต้ว่า ถ้าอย่างนั้นประชาธิปัตย์ก็แกล้งแพ้เลือกตั้ง เพื่อต้องแกล้งวางยาให้น้ำท่วมหรือไม่ ส่วนกองทัพก็นึกไม่ถึงว่าจะกลายเป็นแพะกับเกมโยนบาปครั้งนี้ เพราะเป็นฝ่ายปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนอย่างแข็งขันตามที่รัฐบาลสั่ง และกองทัพก็ได้รับคำชื่นชมสูงว่าเป็นพระเอกตัวจริง

ขณะเดียวกัน แพะตัวที่ 9 คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์แสดงความเสียใจปัญหาน้ำท่วมว่า ช่วงเขาเป็นรัฐบาล เคยคิดทำโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีเรื่องน้ำรวมอยู่ด้วย แต่ถูกปฏิวัติเสียก่อน ทำให้แก้ไม่ได้ ซึ่งกลยุทธ์โยนบาป ปัดพ้นตัว ไม่ยอมรับว่ากลไกการสั่งการในรัฐบาลเองมีความผิดพลาด เพราะแม้แต่คนในรัฐบาล หรือ ศปภ.เองก็ออกมาแฉกันเองว่าทำงานไร้ประสิทธิภาพ ไม่ทันกู้วิกฤต ยังเอาของบริจาคแปะชื่อเป็นของตัวเอง ไม่กระจายของ ปล่อยให้ของบริจาคจมน้ำ แต่รัฐบาลลืมไปว่าแพะที่แกนนำรัฐบาลกล่าวโทษนั้น คือกลไกแขนขาของรัฐบาล มีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด และเห็นว่าทุกอย่างเป็นบูเมอแรงกลับมาทิ่มใส่รัฐบาลเอง

หลักฐานมัด รบ.ปูละเลย ปล่อยน้ำเต็มเขื่อน

ขณะที่วันนี้ (3 พ.ย.) หน้าหนึ่งของ นสพ.โพสต์ทูเดย์ได้เผยแพร่ตาราง “อมน้ำ-บริหารผิด” ซึ่งเป็นตารางที่ระบุถึงลำดับเวลาของเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่วันยุบสภา 10 พ.ค. 2554 จนถึง 31 ต.ค. 2554 เปรียบเทียบกับระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นเปอร์เซ็นต์ พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงผลกระทบ

ตารางเวลาชี้ให้เห็นว่า ณ วันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อยู่ที่ระดับ ร้อยละ 46 และ 51 ตามลำดับ ขณะที่เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 3 ก.ค. ระดับน้ำในเขื่อนทั้งสองได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 และ 65

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่คณะรัฐมนตรีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 10 ส.ค. ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 69 และ 85 จากน้ำเหนือที่ไหลบ่าและอิทธิพลของพายุนกเตน อย่างไรก็ตามหลังจากที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์กลับไม่สามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับอิทธิพลจากพายุไห่ถาง, เนสาด และ นาลแก ส่งผลให้น้ำในเขื่อนทั้ง 2 แห่งเพิ่มขึ้นเต็มความจุในช่วงต้นเดือน ตุลาคม 2554 และในที่สุดก็กลายเป็นมหาอุทกภัยที่ก่อความเสียหายให้กับประเทศไทยอย่างมิอาจประเมินค่าได้

———

ที่มา: http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000140261

การแสดงความเห็นถูกปิด